HIP พูดคุยกับ นิพันธ์ จ้าวเจริญพร ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของ ‘Silence of the Dusk : อัศดงแห่งความเงียบ’ ที่ไม่เพียงแต่จะเป็นผลงานใหม่ล่าสุดของผู้กำกับและนักทำวิชวลเอฟเฟคที่หลายคนยอมรับในฝีมือและติดตามผลงานกันเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นผลงานชิ้นแรกของเขาที่จะได้ปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์จริงๆ อีกด้วย!
HIP : จุดเริ่มต้นของ Silence of the Dusk มีที่มาที่ไปอย่างไร?
นิพันธ์ : ที่มาของการทำหนังเรื่องนี้ หลักๆ ก็เป็นโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ในการทำงานเหมือนทุกๆ เรื่องที่ผ่านมา คือพยายามที่จะนำเสนออะไรใหม่ๆ ที่เราคิดว่าในวงการภาพยนตร์ไทยยังไม่ค่อยมี หนังของเราเป็นเรื่องเกี่ยวกับวันสิ้นโลก/ซอมบี้ ซึ่งถ้าพูดถึงหนังแนวนี้ในฮอลลีวูดมีเยอะมากแล้ว แต่ถ้ามองในเมืองไทย เท่าที่เราเห็นมายังไม่ค่อยมีหนังแบบนี้ในบ้านเรา ก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจทำงานนี้ขึ้นมา
อีกอย่าง Silence of the Dusk ก็เป็นเหมือนการต่อยอดจากผลงานก่อนหน้านี้ที่ผมเคยทำ คือเรื่อง The Silence ซึ่งสถานการณ์ในเรื่องจะคล้ายๆ กัน พอมีความคิดว่าจะทำงานนี้ โจทย์ที่มีก็คือจะต้องทำอะไรในเชิงเทคนิค ในด้านวิชวลเอฟเฟคที่ก้าวหน้ามากขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของการมีตัวละครเป็นฝาแฝดในหนัง ซึ่งที่ผ่านมาผมเคยลองใช้เทคนิคในการสร้างแฝดมาบ้างแล้ว แต่ว่าเป็นแค่คลิปสั้นๆ และไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมาก ก็เลยตั้งใจว่าถ้าจะเอาการทำฝาแฝดมาเป็นโจทย์ในการทำงานแล้ว ก็อยากทำให้เป็นหนังยาวไปเลย ให้มีฝาแฝดอยู่ทั้งเรื่อง มีฉากที่ต้องอยู่ด้วยกัน มีการสนทนา มีการสัมผัสตัวกัน ซึ่งหมายความว่าจะไม่ได้ใช้แค่เทคนิคการแบ่งเฟรมซ้ายขวา หรือว่าใช้ตัวแสดงแทนในบางฉากเท่านั้น แต่ต้องอาศัยงานการวางแผนด้านวิชวลเอฟเฟคเข้ามาช่วยทำให้เกิดขึ้น เพราะในความเป็นจริง เรามีนักแสดงเพียงคนเดียว ไม่ได้เป็นฝาแฝดจริงๆ ก็คือแฝดที่เราเห็นตลอดทั้งเรื่องนั้นแสดงด้วยนักแสดงคนเดียวกัน
HIP : อะไรคือสิ่งที่คุณตั้งใจจะนำเสนอในงานชิ้นนี้?
นิพันธ์ : ส่วนหนึ่งก็คืออยากนำเสนองานแนวนี้ที่เป็นฝีมือของคนไทย เพราะยังไม่ค่อยมีหนังแบบนี้ออกมาให้เห็นเท่าไหร่ ที่เคยมีก็อาจจะไม่ได้ลงลึกหรือมีความซับซ้อนในเรื่องเทคนิคขนาดนี้ อีกอย่างก็คืออยากพัฒนาผลงานในเรื่องของเทคนิคให้ก้าวหน้ากว่างานที่เคยทำมา คือเรื่องการทำฝาแฝดนี่จะเรียกว่าเป็นหัวใจหลักของการทำงานก็ว่าได้ เพราะมันไม่ได้มีผลแค่เรื่องของงานเทคนิคต่างๆ ที่ยากขึ้นเท่านั้น แต่ว่ารวมไปถึงการทำงานในส่วนอื่นๆ ที่ความซับซ้อนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเวลาถ่ายทำฉากฝาแฝด เราก็ต้องถ่ายฉากเดียวกัน 2 ครั้ง ด้วยการวางแผนที่แยบยลและต้องมีความแม่นยำสูงอีกด้วย ซึ่งคนที่มีความรู้ในด้านนี้เขาจะเข้าใจว่ามันไม่ง่ายเลย
HIP : ก่อนจะเริ่มถ่ายทำ คุณเตรียมตัววางแผนการทำงานยังไงบ้าง?
นิพันธ์ : ผมเริ่มคิดงานนี้หลังจากที่ The Deepest ผลงานชิ้นก่อนหน้าของผมออกมาช่วงต้นปี 2558 คือหลังจากทำงานชิ้นนั้นเสร็จ เรามีไอเดียเกี่ยวกับหนังอยู่แล้ว ก็คิดพล็อตเรื่องมาเรื่อยๆ เริ่มเขียนบท วางแผนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แล้วอีกส่วนที่สำคัญก็คือการทดลองทำซีนที่ต้องใช้เอฟเฟคต่างๆ ซึ่งตรงนี้จะใช้เวลาเยอะหน่อย เพราะเราไม่สามารถจะไปทดลองหน้างานได้ เพราะฉะนั้นเวลาคิดอะไรได้ก็ทดลองทำดูก่อนว่าถ้าทำออกมาแบบนี้แล้วจะโอเคไหม? ทำได้ไหม? อันไหนทำแล้วยังไม่เหมาะก็ปรับใหม่ หลังจากนั้นก็เริ่มหาทีมงานแล้วก็หานักแสดง
ความที่เราคิดกันว่าอยากจะให้หนังต่อยอดจากเรื่อง The Silence ซึ่งพูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง หนังเรื่องนี้ก็เลยกลายเป็นหนังที่พูดภาษาอังกฤษทั้งเรื่องไปด้วย ตัวละครจึงต้องเป็นฝรั่ง เลยกลายเป็นโจทย์ในการคัดเลือกนักแสดง ซึ่งก่อนที่จะได้ทอมมี่ (โทมัส วิลเลี่ยม-ยูวินส์) มารับบทในหนัง เราก็ลองแคสติ้งนักแสดงหลายๆ คนรวมทั้งตัวทอมมี่เองด้วย ซึ่งพอเราเห็นว่าเขาแสดงได้ เหมาะกับบท ก็เลยเลือกน้องเขา คือเรื่องอายุก็มีส่วนด้วย เพราะเราไม่อยากให้ตัวละครดูเด็กเกินไป ไม่ได้อยากให้หนังออกมาเป็นหนังเด็ก แล้วถ้าอายุน้อยไปมันก็จะไม่สมเหตุสมผลด้วย แต่ถ้าโตกว่านี้มันก็จะกลายเป็นหนังวัยรุ่นไปอีกด้วยเหมือนกัน ซึ่งเราคิดว่าคนดูอาจจะไม่รู้สึกอยากเอาใจช่วยตัวละครสักเท่าไหร่ แต่ตอนที่เราได้ตัวน้องมา ตอนที่ถ่ายทำน้องอายุ 11ปี ก็เลยถือว่าพอดีๆ ดูแล้วยังน่าสงสารน่าเอาใจช่วยให้รอดชีวิต
HIP : บรรยากาศในระหว่างการถ่ายทำเป็นยังไงบ้าง คุณและทีมงานทำงานกันยังไง?
นิพันธ์ : งานนี้เป็นงานที่เราทำกันเอง ไม่ได้มีคนออกทุนให้ ก็เลยไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องเวลาว่าจะต้องให้เสร็จเมื่อไหร่ บวกกับการที่ผมเองก็มีงานอื่นๆ ที่ต้องทำด้วย ส่วนนักแสดงหลักและนักแสดงสมทบก็เป็นการเชิญชวนให้มาช่วยกัน ไม่ได้เป็นการว่าจ้าง ดังนั้นการถ่ายทำจึงทำกันในตอนที่เรามีเวลาและนักแสดงสะดวก โดยเฉพาะเมื่อนักแสดงของเรายังเป็นเด็ก วันธรรมดาน้องก็ต้องไปเรียนหนังสือ เวลาที่ใช้สำหรับการถ่ายทำได้จริงจึงต้องเป็นวันเสาร์ – อาทิตย์ โดยการถ่ายทำแต่ละครั้งจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเวลาที่นักแสดงมีเป็นหลัก ไม่ได้ถ่ายทำกันตั้งแต่เช้าถึงเย็นเหมือนกองถ่ายหนังทั่วไป ซึ่งด้านหนึ่งอาจจะทำให้ดูเหมือนว่าเราใช้เวลาในการทำงานค่อนข้างนาน เพราะว่าทำงานได้แค่อาทิตย์ละวันหรือสองวัน แต่ว่าจริงๆ แล้วถ้านับจำนวนวันแล้วก็ไม่ได้มากเลย
สำหรับการถ่ายทำ เรามีพล็อตเรื่องอยู่แล้ว โดยแบ่งเรื่องออกเป็นส่วนต่างๆ และรู้อยู่แล้วว่าแต่ละส่วนจะมีซีนอะไรบ้าง ก่อนจะออกไปถ่ายเราก็จะมีบทให้นักแสดงไปศึกษาก่อน แล้วก็วางแผนการทำงานว่าจะทำอะไรบ้าง พอเวลาที่ออกไปถ่ายทำเราก็จะทำงานไปตามซีนนั้นๆ ส่วนใหญ่ก็เรียกว่าเรียงไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงๆ ในหนังเลย เว้นแต่บางครั้งถ้าคิดอะไรใหม่ๆ ได้ก็อาจจะลองดูที่หน้างานว่าไอเดียนี้โอเคไหม นอกจากนี้ก็อาจจะมีบางส่วนที่ต้องถ่ายข้ามฉากบ้าง เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลาของนักแสดง อย่างเช่นฉากตอนกลางคืน ความที่นักแสดงของเราเป็นเด็ก เขาไม่สะดวกที่จะอยู่ทำงานจนดึก เพราะฉะนั้นวันไหนที่มีฉากแบบนี้ เราก็อาจจะถ่ายฉากอื่นกันไปก่อน แล้วรอช่วงใกล้ๆ เลิกกองถึงจะมาถ่ายฉากกลางคืน แล้วค่อยไปใช้งานวิชวลเอฟเฟคช่วยทำให้เป็นกลางคืนอีกที
อย่างที่บอกว่างานนี้เรื่องเทคนิคที่เราเน้นคือการสร้างฝาแฝด ดังนั้นการทำงานก็จะมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น คือในฉากที่ตัวละครปรากฏตัวพร้อมกัน เราก็จะต้องถ่ายฉากนั้น 2 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็รับหน้าที่เป็นตากล้องเอง อาจจะมีบางฉากที่จะมีตากล้องมาช่วยโดยที่เราคอยคุมอีกที ความยากคือเราถ่ายกันด้วยกล้องตัวเดียว แล้วเรื่องราวในหนังก็ไม่ใช่ฉากที่จะตั้งกล้องเอาไว้นิ่งๆ ได้เพื่อรักษาสไตล์ของหนังทั้งเรื่อง ส่วนใหญ่กล้องจะเคลื่อนไหวตลอด ที่ผมเป็นตากล้องเองก็เพราะทีมงานเราเป็นกองถ่ายเล็กๆ ไม่ได้มีคนเยอะและต้องการรักษาสไตล์ของภาพให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรามากที่สุดด้วย เพราะเราจะรู้ว่าจะต้องถ่ายประมาณไหนให้ภาพมันคงเส้นคงวา
งานนี้ก็จะมีส่วนของนักแสดงสมทบด้วย เช่นคนที่มารับบทเป็นบรรดาซอมบี้ ผมได้น้องๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่ผมไปเป็นอาจารย์พิเศษมาช่วยงาน ซึ่งทุกคนต่างอาสาด้วยความยินดีเพื่อร่วมสร้างผลงานด้วยกัน และได้ประสบการณ์จากการทำงานในส่วนนี้ ซึ่งเราก็ได้จัดเตรียมและดูแลสวัสดิการให้กับทุกๆ คนในทีมงาน
HIP : หลังจากถ่ายทำเสร็จแล้ว การทำงานในส่วนที่เหลือมีอะไรบ้าง เรารู้มาว่าคุณทำเองเกือบจะทุกอย่างเลย?
นิพันธ์ : ก็เกือบทุกอย่างครับ ตั้งแต่ตัดต่อ, ทำวิชวลเอฟเฟค, ทำซาวด์, ดนตรีและเพลงประกอบ ก็งานเยอะพอสมควรครับ คือผมจะมีนักศึกษาที่มาฝึกงานกับผมซึ่งก็จะมีส่วนช่วยตั้งแต่ตอนออกไปถ่ายทำ และในบางส่วนของทางด้านวิชวลเอฟเฟคผมก็ได้เปิดโอกาสให้กับน้องๆ ที่มีความสนใจและอยากมีส่วนร่วมกับผลงานชิ้นนี้ได้ร่วมสร้างผลงานด้วย
และจากการที่ผมได้เห็นฝีมือของน้องๆ เยาวชนหลายคนที่แม้ว่าจะไม่ได้เป็นมืออาชีพ ไม่ได้ศึกษามาทางด้านนี้โดยตรง แต่ว่ามีฝีมือ มีความสามารถ มีผลงานที่น่าสนใจ ซึ่งมาจากการที่เขาศึกษาด้วยตัวเอง หรือว่าศึกษาจากตัว Tutorial ที่ผมทำขึ้นมาแล้วเอาไปพัฒนาฝีมือของตัวเองต่อ เลยคิดว่าน่าจะเอางานบางส่วนในหนังแบ่งให้น้องๆ เหล่านี้ได้มีส่วนร่วมด้วย อันนี้ไม่ใช่ว่าทำไม่ทันนะ (หัวเราะ) แต่ว่าตอนที่ทำ The Silence ผมก็เคยเปิดโอกาสให้น้องๆ เก็บฟุตเทจจากจังหวัดของตัวเองส่งมาให้ใช้ในหนังแล้วก็ให้เครดิต เลยคิดว่างานนี้ก็จะทำแบบเดียวกัน ด้วยการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้มีส่วนร่วม โดยที่ก็มีทั้งคนที่คุ้นเคยกับผมแล้วถามมาว่าอยากจะช่วย อยากจะมีส่วนร่วม กับคนที่เราเคยเห็นผลงานของเขาแล้วรู้สึกว่าฝีมือดี น่าจะทำได้ ก็จะติดต่อเขาแล้วเชิญชวนมาร่วมงานกัน ซึ่งผมก็ต้องรู้ว่าเขาถนัดในด้านไหนเป็นพิเศษ ถึงค่อยแบ่งงานที่เหมาะสมกับทักษะนั้นๆ ของเขา ส่วนที่แบ่งไปอาจจะไม่ได้เยอะอะไรมากมาย แต่ว่าก็ต้องอาศัยฝีมือ เวลาและความละเอียดในการทำพอสมควร ซึ่งงานที่ได้กลับมาก็เป็นที่น่าประทับใจมาก แม้อาจจะมีแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในส่วนของการตัดต่อและการทำวิชวลเอฟเฟคต่างๆ การที่เราถ่ายทำกันเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ มันก็กลายเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง คือเรามีเวลาระหว่างที่รอถ่ายทำครั้งต่อไปเพื่อตัดต่อ ทำวิชวลเอฟเฟคในเวลาระหว่างนั้นไปด้วย เรียกว่าการถ่ายทำและการตัดต่อก็จะทำควบคู่กันไป โดยที่พอทำเสร็จในแต่ละส่วน ผมกับทีมงานก็จะเอามาเช็คดูว่างานที่ทำออกมาแล้วเป็นยังไง มีตรงไหนที่ยังไม่โอเคบ้าง ฟังความเห็นของคนอื่นๆ ว่ายังมีตรงไหนที่ควรจะปรับปรุงเพื่อที่จะได้แก้ไขใหม่
ส่วนที่ยากอีกจุดก็คืองานด้านซาวด์และการทำดนตรีประกอบ เพราะเราต้องพยายามทำให้เสียงในหนังมันเป็นไปตามเรื่องราวของหนังที่แทบจะไม่มีสิ่งมีชีวิตเหลืออยู่ คือไม่ใช่เงียบสนิทไปเลย ยังต้องมีเสียงจากองค์ประกอบอื่นๆ อย่างลมพัด,ใบไม้ไหว, เสียงแวดล้อมองค์รวม แต่ว่าต้องไม่มีเสียงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เลย ซึ่งตอนถ่ายทำก็แน่นอนว่ามีเสียงต่างๆ เข้ามาเยอะแยะมาก ผมก็ต้องจัดการในส่วนนี้โดยการสร้างและอัดเสียงใหม่ทั้งหมด ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า ADR ,Foley ในส่วนของการทำดนตรีประกอบ ผมเป็นคนแต่งดนตรีประกอบเอง เล่นดนตรีเอง แล้วคราวนี้เป็นหนังยาวก็ต้องแต่งดนตรีมากขึ้น ต้องหาวิธีว่าจะทำดนตรีออกมายังไงให้สอดคล้องกับเรื่องราวของหนัง โดยที่เรามีเครื่องดนตรีแค่คีย์บอร์ด กีตาร์ และไวโอลิน 3 อย่างเท่านั้นในการทำงาน ก็ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร
HIP : แล้วงานนี้ถูกเลือกให้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ได้อย่างไร?
นิพันธ์ : ต้องเล่าย้อนไปก่อนว่าเป้าหมายในการทำงานแต่ละเรื่องของผมคือ การได้สร้างสรรค์ผลงาน และสามารถต่อยอดโดยการทำสื่อการสอน Tutorial เพื่อที่จะสอนเทคนิคต่างๆ ได้ พูดง่ายๆ ก็คือเราใช้ตัวอย่างในการสอนจากผลงานของเราเอง และหนังแต่ละเรื่องก็เป็นผลงานที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเราด้วยว่าเรามีผลงานอะไรบ้าง ซึ่งกับ Silence of the Dusk ก็เช่นกัน คือถึงแม้จะเป็นหนังยาว ต่างไปจากงานก่อนๆ ของผมที่เป็นหนังสั้น แต่เป้าหมายแรกก็คือจะเผยแพร่ผ่านทางยูทูปเป็นหลักเหมือนงานอื่นๆ อย่างไรตาม พอเราทำงานเสร็จแล้ว เราเห็นว่าตัวงานมันมีศักยภาพที่จะเอาไปฉายในโรงภาพยนตร์ได้ ประกอบกับเราเคยมีการติดต่อกับทางเอสเอฟเอซ ซีเนม่า เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยสนใจอยากจะเอาเรื่อง The Deepest ไปฉาย แต่หนังติดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ภาพบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถฉายในเชิงการค้าได้ ตอนนั้นก็เลยไม่ได้ร่วมงานกัน พอเราทำ Silence of the Dusk ขึ้นมา เราก็เลยส่งตัวอย่างหนังไปให้ทางเอสเอฟดู ซึ่งพอเขาดูแล้วก็สนใจและนัดพบปะพูดคุยประสานงานกันมาเรื่อยๆ จนในที่สุดทางเอสเอฟตัดสินใจว่าจะนำหนังของเราเข้าฉายในโรงที่เมญ่า โดยจัดให้เป็น Exclusive Movie
ผมเชื่อว่าคนทำหนังทุกคนคงมีความฝันว่าอยากจะเห็นผลงานของตัวเองฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งก่อนการได้ทดลองฉายหนังของเราบนจอภาพยนตร์จริงๆ ก็ลุ้นว่าภาพจะแตกไหม (หัวเราะ) แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่เป็นปัญหา คือพอมาดูภาพยนตร์บนจอใหญ่แล้วมันก็ได้ความรู้สึกอีกแบบ หลายๆ ฉากให้อารมณ์มากขึ้นทั้งภาพและเสียง ส่วนความรู้สึกของตัวผมเองก็มีทั้งดีใจ ภูมิใจและประทับใจในตัวทีมงานทุกๆ คน ถือเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผมด้วยเหมือนกัน ตอนที่หนังเข้าฉายจริงๆ ผมไม่รู้หรอกว่าหนังจะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน จะได้ฉายกี่วัน จะอยู่แค่แป๊บเดียวหรือว่าได้ไปฉายที่โรงอื่นๆ เพิ่ม แต่อย่างน้อยมันก็เป็นประสบการณ์ที่เราสามารถแบ่งปันให้คนอื่นๆ ต่อไปได้ว่าใครๆ ก็สามารถมาถึงจุดนี้ได้นะ ถ้าเราทำงานที่มีคุณภาพและพัฒนาผลงานของตัวเองอย่างสม่ำเสมอไม่หยุดยั้ง
HIP : คุณเรียนรู้อะไรจากการทำหนังยาวเรื่องแรกในชีวิตบ้าง?
นิพันธ์ : อย่างแรกก็เรื่องการบริหารเวลาครับ พอทำหนังยาวระยะเวลาในการทำงานมันกว้างขึ้น ไม่เหมือนตอนทำหนังสั้นที่ถ่ายไม่นานก็จบ แต่แบบนี้เราต้องบริหารเวลาให้ชัดเจน เรื่องต่อมาก็คือการวางแผนในการทำงาน อย่างที่บอกว่าการทำงานนี้มีกระบวนการทางเทคนิคที่ซับซ้อนพอสมควร ฉะนั้นก่อนจะลงมือทำอะไรก็ตามเราต้องวางแผนให้มากๆ เพราะเราไม่สามารถจะไปคิดและแก้ไขตรงหน้างานได้ตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ให้ประสบการณ์ใหม่ๆ กับตัวผมเองด้วยเช่นกัน
HIP : เตรียมตัวรับมือกับคำวิจารณ์ต่อผลงานของตัวเองไว้ยังไง?
นิพันธ์ : อย่างที่ผมบอกไปว่าในระหว่างทำงานเราก็มีการเช็คกันอยู่เรื่อยๆ ว่าทำออกมาแล้วหนังหลุดจากสิ่งที่เราต้องการนำเสนอหรือเปล่า ทั้งจากการเช็คกันเองของทีมงาน หรือเชิญคนมาดูแล้วให้เขาวิจารณ์ให้ฟังว่าคิดยังไง รวมไปถึงตอนที่เคยเอาหนังไปฉายที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็มีการทำแบบสอบถามให้ผู้ชมได้ให้คะแนนสำหรับหนังด้วย คือที่ผ่านมาเราก็รับฟังความคิดเห็นต่างๆ มาโดยตลอด อันไหนที่เราคิดว่าเหมาะสม ถูกต้อง เราก็รับฟังแล้วเอาไปปรับปรุงงานของเรา
สิ่งที่ผมห่วงมากกว่าซึ่งเราก็คงห้ามไม่ได้ด้วย คือการที่คนจะเอาหนังไปเปรียบเทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ในแนวทางเดียวกัน เอาไปเทียบกับหนังที่เขาทำงานกันในสเกลใหญ่ๆ อย่างหนังฮอลลีวูดอะไรแบบนั้น คือถ้าเทียบกันแบบนั้น หนังของเราก็ไม่ได้มีอะไรใหม่เลย มันเป็นเรื่องที่เขาทำกันมาเยอะแล้ว คือเราอยากจะบอกคนดูว่าขอให้มองหนังเรื่องนี้ “ตามพื้นฐานที่มันเป็น” คือเราไม่ใช่ทีมงานใหญ่โต ไม่ใช่โปรดักชันระดับฮอลลีวูด จะให้เราเซตฉาก เซตเมืองขึ้นมาถ่ายทำ ปิดถนนอะไรขนาดนั้นก็ไม่ได้ เราจึงต้องใช้วิชวลเอฟเฟคเข้ามาช่วยและทุ่นแรงเพื่อให้สิ่งที่ต้องการนำเสนอมันเกิดขึ้นได้จริง ถ้าคนดูคาดหวังว่าจะต้องเห็นเทคนิคระดับอลังการก็คงไม่ใช่ แต่เราก็ทำงานกันเต็มที่เท่าที่สามารถทำได้ หรือถ้าถามว่าทำไมเรื่องราวในหนังมันเดาได้ง่าย ก็เพราะเรื่องราวของหนังแนวนี้มันก็จะออกมาประมาณนี้อยู่แล้ว สิ่งที่เราอยากนำเสนอคือการหยิบเอางานแนวนี้มาทำให้เกิดขึ้นในบ้านเรามากกว่า เพราะเราเห็นว่ายังไม่มีใครทำงานแบบนี้กันจริงๆ จังๆ รวมทั้งต้องการนำเสนอในเชิงเทคนิคว่าเราก็ทำได้นะ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีทีมงานมากมาย ทำกันแค่ไม่กี่คนนี่ล่ะ แน่นอนว่ามันต้องมีส่วนที่เรายังต้องปรับปรุงกันต่อไป แต่เราเชื่อว่ามันก็มีส่วนที่เราทำได้ดีพอสมควรอยู่เหมือนกัน มันอาจจะไม่ได้ดีมากมาย แต่เราก็พยายามทำอย่างสุดฝีมือ
HIP : อยากจะฝากอะไรถึงผู้ชมก่อนจะไปชม Silence of the Dusk
นิพันธ์ : อย่างแรกเลยก็คือ เราพยายามทำหนังในแนวที่ยังไม่ค่อยมีใครทำในวงการหนังไทยมาก่อน ทุกคนก็คงพอจะนึกออกว่าเวลาเราพูดถึงหนังไทยเราจะเห็นหนังอยู่ไม่กี่แบบ เราก็เลยอยากจะนำเสนออะไรใหม่ๆ ที่ต่างออกไป เป็นรสชาติใหม่ให้ผู้ชมได้ลิ้มลองดูบ้าง มันอาจจะไม่ได้แหวกแนวอะไรมากไปจากหนังสากลทั่วไป แต่อย่างน้อยมันก็แตกต่างไปจากหนังไทยหลายๆ แนวที่คุณเคยดูมา
อีกอย่างคือผมหวังว่าเราจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่มีความตั้งใจอยากสร้างหนังหรือมีความสนใจในแขนงต่างๆ ของการทำหนัง ว่าถึงแม้เราจะทำงานภายใต้ความจำกัดของทรัพยากรที่มี แต่เราก็สามารถสร้างผลงานออกมาในระดับสากลได้ เพียงเริ่มต้นด้วยความตั้งใจ, ความพยายาม, ความสัตย์ซื่อ, ความสามัคคี, และความมุ่งมั่นพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ก็จะนำเราไปสู่ความสำเร็จที่ใฝ่ฝันไว้
DID YOU KNOW?
- จากการคำนวณ ถ้านับเฉพาะจำนวนวันที่ทีมงานใช้ในการถ่ายทำ (ไม่รวมการตัดต่อต่างๆ) นิพันธ์บอกว่าพวกเขาใช้เวลาในการทำงานทั้งหมดเพียง 17 วันเท่านั้น
- จำนวนน้อยที่สุดของทีมงานที่ออกไปถ่ายทำในแต่ละครั้งคือ 5 คน
- นักแสดงประกอบในเรื่อง นอกจากจะมีนักศึกษาที่นิพันธ์สอนแล้ว ยังมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาร่วมแสดงด้วย
- หลังจากเรื่อง Silence of the Dusk นิพันธ์บอกว่าเขามีแผนที่จะทำหนังเรื่องใหม่ ซึ่งอาจมีเรื่องราวเกี่ยวโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน Silence of the Dusk โดยที่เมื่อผู้ชมดูแล้วจะเห็นความเชื่อมโยงกันของหนังทั้งสองเรื่อง หรือจะดูแยกกันก็เข้าใจเรื่องราวได้ไม่สับสน
- Silence of The Dusk จะเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ เอสเอฟเอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน เป็นต้นไป ใครสนใจอยากดูหนังไทยฝีมือชาวเชียงใหม่ หรืออยากลองดูเชียงใหม่ในแบบที่เป็นเมืองร้างก็ตีตั๋วเข้าไปชมกันได้
- “นิพันธ์” ซึ่งเป็นผู้กำกับเรื่องนี้ รับหน้าที่หลายตำแหน่งมากๆ อาทิ เขียนบท, ตากล้อง, กำกับศิลป์, แต่งหน้าพิเศษ (Special Make-up), แอคติ้งโค้ช, ตัดต่อ, ทำเอฟเฟคส์, เสียงประกอบ, ดนตรีประกอบ, เพลงประกอบ, และอีกมากมายที่ต้องรอดูกันในเครดิตตอนท้ายหนัง...
เรื่อง: ระพินทรนาถ
ภาพ: Nipan Studio
ปี: 2016
Bình luận